โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 24 มิถุนายน 2567 , 17:52:21 (อ่าน 310 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ แก้วกุลชัย รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร พร้อมคณะผู้บริหารระดับคณะ และผู้หัวหน้าโครงการ ให้การต้อนรับ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ผู้แทนอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย และผู้แทนคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษากลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมนวัตกรรม ในโอกาสติดตามผลการดำเนินโครงการการพัฒนานักศึกษาและกำลังคนสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (innovation entrepreneur) ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชัน (function food) และอาหารเป็นยา (nutraceutical) พร้อมลงพื้นที่ชมงานวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ แก้วกุลชัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มุ่งสร้างบัณฑิตและพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักพื้นฐานความพอเพียง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในหลายสาขา โดยเฉพาะด้านเกษตร อาหาร และสุขภาพจากฐานทรัพยากรชีวภาพ ประกอบกับมหาวิทยาลัยได้กำหนดทิศทางการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการให้อยู่ในรูปแบบการบูรณาการองค์ความรู้จากหลายสาขาสู่การปฏิบัติจริง เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน และเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแก้ไขความยากจน สู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
ทั้งนี้ เมื่อปีงบประมาณ 2565มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัด อว. เพื่อดำเนินโครงการการพัฒนานักศึกษาและกำลังคนสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชัน และอาหารเป็นยา ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อพัฒนากำลังคนตามความต้องการของพื้นที่และประเทศ และพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและอาหารเป็นยา พัฒนาระบบเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน และเสริมสร้างศักยภาพในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ดึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญในด้านเกษตร อาหาร และสุขภาพจากฐานทรัพยากรชีวภาพได้เป็นอย่างดี ประกอบกับ มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถานประกอบการขนาดใหญ่ มาร่วมกันพัฒนาทักษะบุคลากร นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และผู้ประกอบการ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การผลิตเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุน Soft power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
จากผลการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2565 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ ยกระดับการพัฒนาการเรียนการสอนและวิจัยร่วมกัน ระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี และหลักสูตรระยะสั้น เพื่อยกระดับการผลิตพืชและสัตว์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการพัฒนานักศึกษาให้พร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีหลักสูตรการผลิตสัตว์น้ำในระบบไบโอฟลอคและการควบคุมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หลักสูตรการผลิตสารบำรุงดินจากมูลไส้เดือนที่เพิ่มมูลค่าทางการเกษตร หลักสูตรฟิสิกส์ชีวการแพทย์ เพื่อยกระดับการใช้และการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์และเครื่องมือในอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและอาหารเป็นยา ฯลฯ นอกจากโครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถานประกอบการรายใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน และได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่พร้อมพัฒนาต่อไปในระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังได้รับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ ในการทำความร่วมมือกับสถานประกอบการด้านสารสกัด เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มศักยภาพในการลงทุน โดยสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานให้ทุน อาทิ บพข. และควรทำความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs เพื่อสร้างศักยภาพให้กับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง และควรเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับอุทยาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อบริหารจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและต่อยอดโครงการต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม/ ข้อมูล
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว