โพสต์โดย : สรายุทธ ดวงตา วันที่ 18 กันยายน 2566 , 14:04:28 (อ่าน 580 ครั้ง)
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดตัวสื่อการเรียนรู้ BIMSTEC E-Learning and E-Books สนับสนุนไทยในฐานะประธานบิมสเทค โดยมี นายรชา อารีพรรค ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายคิราน ศากยะ (Mr. Kiran Shakya) ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประชาชน (Director People to People Contact) สำนักเลขาธิการบิมสเทค (BIMSTEC Secretariat) พร้อมด้วย ดร. ลักษมณ สมานสินธุ์รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรนุช ปวงสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมเป็นเกียรติ ณ ถนนคนเดินเขมราษฏร์ธานี อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
ด้าน ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่าสื่อการเรียนรู้บิมสเทค เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยที่ได้รับมอบตำแหน่งประธานบิมสเทคในวาระปี พ.ศ. 2565 – 2566 ผ่านการสร้างการตระหนักรู้ (awareness) ตั้งแต่การทำความรู้จัก สร้างความเข้าใจ และเล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของบิมสเทค ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน (People-to-People Contact) ผ่าน 2 สื่อการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย
สื่อที่ 1 สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ว่าด้วยบิมสเทค (BIMSTEC E-Learning) เป็นการอบรมรูปแบบระบบออนไลน์เกี่ยวกับความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในบิมสเทคให้มากยิ่งขึ้น ใน 10 หัวข้อ ดังนี้
1.ประวัติศาสตร์และพัฒนาการ BIMSTEC โดย ดร.วิศรา ไกรวัฒนพงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
2.ชาติสมาชิก BIMSTEC โดย ดร.ธนเชษฐ วิสัยจร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
3.วัฒนธรรมอ่าวเบงกอล วัฒนธรรมร่วม BIMSTEC โดย ดร. ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.สาขาความร่วมมือBIMSTEC โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
5.โอกาสทางเศรษฐกิจของ BIMSTEC โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรุตม์ เจริญศรี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6.BIMSTEC กับ เศรษฐกิจ BCG โดย ดร.สุทธิพงศ์ วรอุไร สํานักนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
7.ความสำเร็จของ BIMSTEC โดย ดร.ธนเชษฐ วิสัยจร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
8.กฎบัตร BIMSTEC โดย ดร.ศิริสุดา แสนอิว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
9.BIMSTEC and Indo Pacific โดย ดร.กิตติพศ พุทธิวนิชคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
10.โอกาสของไทยใน BIMSTEC โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยณัฐ สร้อยคำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โดยภายหลังการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ จะได้รับเกียรติบัตรจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าถึงBIMSTEC E-Learning ได้ที่ https://polsci.ubu.ac.th/polmooc-detail/7
สื่อที่ 2 คือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับบิมสเทค (BIMSTEC E-Books) จำนวน 2 เล่ม โดยคณาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แก่ ดร.ศิริสุดา แสนอิว หนังสือเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบิมสเทค” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ หนังสือเรื่อง “บิมสเทคปริทัศน์ผ่านรัฐสมาชิก”
อนึ่ง BIMSTECเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีศักยภาพในอนาคต เนื่องจากหากพิจารณาในแง่ของจำนวนประชากรและขนาดของเศรษฐกิจแล้ว พบว่า ในปัจจุบันประเทศสมาชิกของ BIMSTEC มีประชากร คิดเป็นร้อยละ 22 ของโลกหรือ 1.68 พันล้านคน และประเทศสมาชิกมี GDP รวมกันที่ 3.697 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี อีกทั้ง ภูมิภาคอ่าวเบงกอลนี้ยังเป็นภูมิภาคที่มีประชากรเป็นวัยแรงงานเกินครึ่ง จึงนับเป็นภูมิภาคที่มีกำลังในการผลิตสูงมาก ทำให้บิมสเทคเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของโลกในเชิงจำนวนประชากร ขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การส่งมอบและเปิดตัวสื่อการเรียนรู้บิมสเทคดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ดร. ลักษมณ สมานสินธุ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายวชิระ วิเศษชาติ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ คุณชีวาง รินซินรองราชเลขาธิการพระราชวังแห่งราชอาณาจักรภูฏานและผู้อำนวยการสถาบันการเมืองและยุทธศาสตรศึกษา ศาสตราจารย์อรชุน กุมาร บาราล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งเนปาล คุณขิ่น นิลา ซอ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาแห่งเมียนมาร์ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้แทนสถาบันในเครือข่ายคลังสมองเชิงนโยบายบิมสเทค อาทิ ศูนย์นโยบายแห่งบังคลาเทศ ศูนย์วิจัยและระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาแห่งอินเดีย พร้อมประชาชนชาวอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน
นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้สนับสนุนภารกิจสำคัญของประเทศไทยในการเป็นประธานบิมสเทคผ่านการจัดทำสื่อการเรียนรู้และหนังสืออนไลน์ว่าด้วยบิมสเทคเพื่อสร้างการรับรู้ความร่วมมือแห่งอ่าวเบงกอลนี้ต่อไป