โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 , 22:16:15 (อ่าน 742 ครั้ง)
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจ นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย นศพ.ธัญญารัตน์ วงษ์เพ็ญนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ที่คว้า 3 รางวัล การประกวดภาพดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ “Medical ethics in the era of health innovation”ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รางวัล Popular Voteและรางวัล Electronic voteในกิจกรรมค่ายจริยธรรมสัญจร ประจำปี 2566 จัดโดยแพทยสภา และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมคู่การแพทย์ ก้าวไกลด้วยจริยธรรม สู่ยุคใหม่อย่างยั่งยืน : Medical Innovation: Progressing Ethically Towards a Sustainable Future” โดยมีนิสิตนักศึกษาแพทย์จากสถาบันทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 15 ผลงาน ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
กิจกรรมค่ายจริยธรรมสัญจร ประจำปี 2566 เป็นกิจกรรมส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาแพทย์มีความรู้ความเข้าใจในการใช้นวัตกรรมโดยยึดหลักของจริยธรรมทางการแพทย์ที่ดำรงไว้ซึ่งการยอมรับนับถือจากสังคม การแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และสามารถนำความรู้ความเข้าใจและทักษะที่ได้รับจากกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์และวิชาชีพแพทย์ในอนาคต
ผลการประกวดภาพดิจิทัล ภายใต้หัวข้อ “Medical ethics in the era of health innovation”ดังนี้
รางวัล Popular Vote และ รางวัล Electronic vote ได้แก่ นศพ.ธัญญารัตน์ วงษ์เพ็ญ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชื่อภาพ : แพทย์ร่วมนวัตกรรม ช่วยเหลือคนทุกคนอย่างเท่าเทียม
รางวัลผลงานดีเด่น
รางวัลชนะเลิศได้แก่ นศพ.ธัญญารัตน์ วงษ์เพ็ญ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชื่อภาพ : แพทย์ร่วมนวัตกรรม ช่วยเหลือคนทุกคนอย่างเท่าเทียม
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1ได้แก่ นศพ.ชุติกาญจน์ สุริยะศรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชื่อภาพ : Blue Tunnel
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2ได้แก่ นศพ.พิชญาภา มะลิงาม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชื่อภาพ : Ethics still
ด้าน นศพ.ธัญญารัตน์ วงษ์เพ็ญนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ที่ คว้า 3 รางวัล กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ โดยชื่อภาพแพทย์ร่วมนวัตกรรม ช่วยเหลือคนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าใครจะมีฐานะเชื้อชาติศาสนาหรือลัทธิการเมืองใดๆทุกคนควรได้รับการเข้าถึงนวัตกรรมอย่างเท่าเทียม ส่วนเทคนิคการวาดภาพตนใช้โปรแกรมProcreate แอพลิเคชั่นสำหรับวาดรูป ซึ่งตนมีความสนใจในการวาดภาพการ์ตูนตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมต้น และฝึกฝนเป็นประจำ นอกจากจะช่วยผ่อนคลายหลังการเรียนแล้ว ยังทำให้เราฝึกสมาธิมีความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดผลงานผ่านจินตนาการสู่ภาพวาดแบบดิจิทัลที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว