โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 , 14:46:10 (อ่าน 938 ครั้ง)
เมื่อระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ส่งตัวแทนนักศึกษา จำนวน 7 คน เดินทางไปแลกเปลี่ยนทางวิชาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ณ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ (คนร.) มหาวิทยาลัยจำปาสัก (มจ.) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาด้านการจัดการเรียนการสอน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในโอกาสนี้ตัวแทนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย ดร.นิติลักษณ์ แก้วจันดี คณบดีคณะนิติศาสตร์ ได้รับเกียรติจาก ท่านดร.บุนมี พอนสะหวัน (Dr. Bounmy PHONESAVANH, Ph.D ) อธิการบดี มหาวิทยาลัยจำปาสัก เข้าพบและหารือเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ ที่จะสามารถดำเนินการร่วมกันระหว่างปี 2566-2567
จากนั้น ดร.นิติลักษณ์ แก้วจันดี คณบดีคณะนิติศาสตร์ พร้อมด้วยบุคลากร ได้ร่วมพิธีการส่งมอบนักศึกษาให้อยู่ในความดูแลของของคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ (คนร.) มหาวิทยาลัยจำปาสัก (มจ.) นำโดย คณบดี ท่านนางพัดสะนี พูวัน (Ms. Phatsany PHOVANH) และคณะอาจารย์ รวมทั้งตัวแทนนักศึกษา ร่วมให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวก และหลังจากนี้ ทาง มหาวิทยาลัยจำปาสัก จะมีการส่งนักศึกษามาแลกเปลี่ยนฯ ในโครงการ มายังณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 18-24 มิถุนายน 2566 ด้วยเช่นกัน
พร้อมนี้ ผู้บริหารและคณาจารย์ ของทั้งสองสถาบันได้หารือถึงแผนการจัดการเรียนการสอนวิชาระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตของม.อุบลฯ มีการพิจารณาประมวลรายวิชาร่วมกัน กำหนดขอบเขตและเรียงลำดับเนื้อหา โดยทางคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มจ. ยินดีให้ความอนุเคราะห์อาจารย์ประจำและประสานงานติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายให้แก่นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 (ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2566) โดยมีรายละเอียดดังนี้
หัวข้อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม บรรยายโดยท่านแสงแก้ว แสงสุลี (Mr.Sangkeo SENGSULY) หัวหน้ากองอัยการประชาชนภาคใต้ ร่วมกับอาจารย์วิไซ เกดเสน (Mr.Vixay KEDCHANE) อาจารย์ประจำของ ครน. มจ.
และ หัวข้อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ สปป.ลาว โดย อาจารย์อะนันสิน ยาตรา (Mr.Arnunsin YATRA) และอาจารย์คำพา ขุนซะนะ (Mr.Khampha KHOUNSANA) ทั้งสองท่านเป็นอาจารย์ประจำของ คนร. มจ.
นับว่าเป็นความก้าวหน้าด้านความร่วมมือทางวิชาการของสองสถาบัน เปิดโอกาสให้อาจารย์ของทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันอย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันนักศึกษาก็ได้เพิ่มพูนประสบการณ์และมีทักษะการเรียนกฎหมายในบริบทที่หลากหลายยิ่งขึ้น ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งสามารถต่อยอดไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ ที่เอื้ออำนวยให้นักศึกษาของทั้งสองสถาบันได้รับความรู้ใหม่ ๆ ตลอดจนเปิดโลกทัศน์มิติที่กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไป