โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 14 มีนาคม 2566 , 10:15:06 (อ่าน 865 ครั้ง)
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถาบันอุดมศึกษาอีก 11สถาบันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี และเทศบาลนครอุบลราชธานี จัดงาน “มหกรรมทุนวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคอีสาน: จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2566 ณ ถนนคนเดินเลียบแม่น้ำมูล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิธีเปิดงาน “มหกรรมทุนวัฒนธรรมฟื้นใจเมืองภาคอีสาน: จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี วัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี และตัวแทนมหาวิทยาลัย 12 แห่งร่วมกันเปิดงาน เพื่อชูซอฟต์พาวเวอร์ผ่านมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมจากผลงานวิจัยครั้งแรกของมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้ "กรอบวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่" ซึ่งหน่วย บพท.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยระหว่างปี 2563-2565 รวมทั้งสิ้น 48 โครงการทั่วประเทศ
“มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง 4 ภูมิภาค” มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและขยายผลการรับรู้ในวงกว้างถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมจาก “คุณค่าสู่มูลค่า” ทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการออกร้านจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการวัฒนธรรม สาธิตและอบรมงานฝีมือ การแสดงของศิลปินท้องถิ่น นิทรรศการผลงานวิจัย แฟชั่นโชว์ การเสวนาระหว่างภาคีเครือข่าย
การดำเนินงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระจายตัวอยู่ในสามลุ่มน้ำสำคัญของภาคอีสาน ประกอบด้วย ลุ่มน้ำโขง 2 โครงการ ลุ่มน้ำชี 5 โครงการ และลุ่มน้ำมูล 7 โครงการ มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับภาคีในพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศิลปิน ช่างฝีมือ ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคธุรกิจเอกชน ร่วมมือกันออกแบบสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมของตนเองใหม่ (Re-designing Community Culture) รื้อฟื้นวัฒนธรรม ฟื้นฟู พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยของคนในพื้นที่ที่สูญหายไปให้กลับมา และนำไปสู่การใช้ประโยชน์โดยการสร้างผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม ผู้ประกอบการวัฒนธรรม และเกิดการสร้างกลไกในพื้นที่ในการเชื่อมความรู้จากทุนทางวัฒนธรรมไปสู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และแหล่งเรียนรู้เพื่อแบ่งปันให้กับสาธารณะ
ภาพรวมผลผลิตจากการจัดการทุนทางวัฒนธรรมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 12 สถาบัน 14 โครงการได้ก่อเกิดผลผลิต ประกอบด้วย ผู้ประกอบการวัฒนธรรม 30 กลุ่ม จำนวน 85 ราย ผู้ประกอบการวัฒนธรรมรายใหม่ที่เกิดจากการดำเนินโครงการ จำนวน 40 ราย "คนรุ่นใหม่" 128 คน "คนคืนถิ่น" 35 คน และ"นวัตกรวัฒนธรรม" 74 คนที่มีส่วนร่วมในโครงการ ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 75 ผลิตภัณฑ์ บริการทางวัฒนธรรม 56 บริการ และพื้นที่วัฒนธรรม 19 แห่ง
แนวคิดการจัดทำนิทรรศการ คือ การนำเสนอทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของภาคอีสานจากผลงานวิจัย แบ่งเนื้อหาเป็น 6 ส่วน ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ อาหารพื้นบ้านจากการแปรรูปข้าว ปลา และกล้วย ผ้าและสิ่งทออีสาน ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้า eco print ความเชื่อ พิธีกรรมและศาสนา การแสดงและการละเล่นอีสาน และการนำเสนอTimeline ฟื้นใจเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมร้อยเส้นเวลาการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของ 14 โครงการวิจัยเพื่อเห็นความสำคัญของพื้นที่วิจัยและประเด็นการศึกษาด้านวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่วิจัย
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการผลงานโครงการวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การออกบูธแสดงสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม โดยผู้ประกอบการทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งเสื้อผ้าในพื้นถิ่นภาคอีสานเช่น ผ้าฝ้ายทอมือเขมราฐ ผ้าไหมจากจ.สุรินทร์ จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ ผ้าเงี่ยงนางดำ กูยรงระ ผ้า eco print สินค้าหัตถกรรม เครื่องประดับ สินค้าอาหารพื้นถิ่น รวมถึงกิจกรรม Workshop ที่เปิดให้เฉพาะผู้เข้าร่วมงานนี้เท่านั้นได้ทดลองทำจริง เช่น ผ้าขาวม้าแต่งสนุก การออกกำลังกายด้วยท่ามวยพิมายโบราณ เล่าเรื่องเมืองเทียน (The Candle Art City) ปักแส่ว: กูยรงระ Glow in the dark LOVE MOR และอุราเรณู เป็นต้น
ภายในงานได้รวบรวมศิลปะการแสดงทุนทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น มวยพิมายโบราณ รำตังหวาย ฟ้อนหัตถศิลป์ถิ่นสูงเนินผ้าเงี่ยงนางดำ รำสี่แสง หรำรงระ หมอลำหมอแคนบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล การแสดงวาณิชห้วยราช รำตุ้มผ่าง การแสดงชุดต้นกล้ากันตรึม การแสดงเรืองแสง-ศิลป์ ถิ่นสิรินธร คอนเสิร์ตหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น อีสานนครศิลป์ การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นเมืองภาคอีสาน ISAN CONTEMPORARY FASHION และมุมถ่ายภาพต่างๆ ภายในงาน ถือเป็นงานเทศกาลที่รวมเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมของภาคอีสานมาจัดแสดงให้สาธารณชนรู้จักเพิ่มมากขึ้น