โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 30 ธันวาคม 2565 , 10:08:42 (อ่าน 1,050 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโครงการบริการวิชาการ การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนทำให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนเพิ่มศักยภาพของคนในท้องถิ่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมี ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวิตรี สิงหาดหัวหน้าโครงการ กล่าวรายงาน ซึ่งมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน และผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมโครงการ ณ ชมรมผู้สูงอายุ กศน. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานีและชมรมผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวิตรี สิงหาด หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการดำเนินโครงการด้านส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การขับเคลื่อนงานสุขภาพผู้สูงอายุ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) ด้วยกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมความรู้ทักษะทั้งด้านวิชาการ ประกอบด้วย การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงด้วยเกม Augmented Reality (AR) &Virtual Reality (VR)เพื่อส่งเสริมความจำ ป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ การใช้แอปพลิเคชันประเมินคัดกรองภาวะสมองเสื่อม หลักในการดูแลและบทบาทหน้าที่ของ อสม. ในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุที่บ้านและในชุมชน มุ่งสู่เป้าหมาย “รู้จริง ปฏิบัติได้ ถ่ายทอดเป็น”ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยในการจัดกิจกรรมอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและเชื่อมโยงคนทุกวัยให้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
สำหรับทีมวิทยากร ประกอบด้วย ผศ.ดร.อธิพงศ์ สุริยา ผอ.สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย รศ.ดร.สุรศักดิ์ แว่นรัมย์ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข ผศ.สาวิตรี สิงหาด อาจารย์สุฬดี กิตติวรเวช และ ดร.ภูษณิศา มีนาเขตร คณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมถ่ายทอดความรู้และเทคโรโลยีในครั้งนี้
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม” สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้าน SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อีกด้วย
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว