โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 , 13:31:25 (อ่าน 2,337 ครั้ง)
คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ นำเทคโนโลยียกระดับ
ปลูกมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์เกรดพรีเมี่ยม ในโรงเรือน จ.อุบลฯ
----------------------------------------
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ“เทคโนโลยีการปลูกมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ในโรงเรือน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการ“การวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อการผลิตมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์เกรดพรีเมี่ยม ในโรงเรือนของจังหวัดอุบลราชธานี” ให้แก่ เกษตรกร นักศึกษา และประชาชนทั่วไปพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 12 - 13 พฤศจิกายน 2565 ณ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์อัจฉริยะ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทินน์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวต้อนรับเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม และวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตมะเขือเทศเชอรี่คุณภาพให้กับเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี และเพิ่มมูลค่าผลิตผลมะเขือเทศเชอรี่ทั้งแบบบริโภคผลสดและการแปรรูปจากผลิตผลที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และเพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัย ตั้งแต่การทำปุ๋ยหมัก การปลูกและดูแลรักษา จนกระทั่งการแปรรูป เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตมะเขือเชอรี่อินทรีย์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ เป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ “หลักการปลูกมะเขือเทศเชอรี่ในโรงเรียน/พันธุ์ ปัจจัยการผลิต (การเตรียมโรงเรือน การเตรียมวัสดุปลูก การจัดการธาตุอาหาร) โรคมะเขือเทศและแนวทางในการป้องกันกำจัด สารชีวภัณฑ์และสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช” และยังได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทินน์ พรหมโชติ ดร.นิมมานรดี พรหมทอง ดร.ทวีศักดิ์ วิยะชัย ดร.ภาคภูมิ สืบนุการณ์ ดร.ภาษิตา ทุ่นศิริ นายรักเกียรติ แสนประเสริฐ และ นายสามัคคี นิคมรักษ์ ตัวแทนเกษตรกรต้นแบบร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วงบรรยายและปฏิบัติการ เทคนิคการนำจุลินทรีย์มาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของกล้า(ไตรโคเดอร์มาและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง) การเพาะกล้าแบบย้ายกล้าลงถาดและเพาะในถาดเพาะกล้า และการเตรียมปัจจัยการผลิต ปุ๋ยหมักอินทรีย์ มอบ. 60 (5-3-1-1) การจัดการในโรงเรือนปลูกมะเขือเทศ การจัดการระบบน้ำและการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยด การเก็บตัวอย่างวัสดุปลูกและการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีเบื้องต้น การเปรียบเทียบคุณภาพน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารจับใบในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช การทำน้ำหมักสมุนไพรกับการนำไปใช้ประโยชน์(สารป้องกันศัตรูพืชอินทรีย์, สารจับใบ, ซัลเฟอร์, ยาสูบฯ) การทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาและผลไม้ การเตรียมแปลง การจัดการเข่ง/ภาชนะปลูกในโรงเรือน การย้ายปลูก การวางระบบน้ำในโรงเรือน การตัดแต่งเถาและทำหวานมะเขือเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทินน์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการวิจัยและทดลองการปลูกพืชอินทรีย์ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2560 นำมาซึ่งระบบการปลูกมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ในโรงเรือนที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูงและมีเกษตรกรนำไปใช้เพื่อสร้างอาชีพใหม่ โดยหัวใจสำคัญในการผลิตมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ในโรงเรือนคือ การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักสำหรับบำรุงต้นตั้งแต่การเตรียมดินจนกระทั้งเก็บเกี่ยว ในส่วนของระบบการปลูกมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ในโรงเรือนสามารถแบ่งได้ 2 วิธี คือ การปลูกลงดินและการปลูกในภาชนะ เช่น เข่งพลาสติก ถุงปลูก ฯลฯ และขอขอบคุณ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้การสนับสนุน การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตมะเขือเทศเชอรี่คุณภาพให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตมะเขือเทศเชอรี่ทั้งแบบบริโภคผลสดและการแปรรูปจากผลิตผลที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ให้ได้มาตรฐานของการผลิตและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น
------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว