โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 22 สิงหาคม 2565 , 13:59:27 (อ่าน 765 ครั้ง)
ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดสัมมนาติดตามผลการแก้ไขปัญหาคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าววัตถุประสงค์โครงการดังกล่าว โอกาสนี้ รับเกียรติจาก นางสาวปิติกาญจ์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ กล่าวเปิดโครงการ เมื่อระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุม POL-301 ชั้น 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเด็นเกี่ยวกับสถานะบุคคลจึงได้จัดทำโครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ: กิจกรรมคลินิกสิทธิมนุษยชนกับสถานะบุคคลครั้งที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในรูปแบบเจตจำนงร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติราชการทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสถานะบุคคลเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายและสนับสนุนเครื่องมือและกลไกการทำงานในประเด็นสิทธิสถานะบุคคล และสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์
โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน กลุ่มที่ 3 กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน กรณีบุคคลเชื้อสายลาวที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ในอดีต โดยปัจจุบันมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน จากความร่วมมือกับภาคีดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดกิจกรรมหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้บริการทางทะเบียนและบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บุคคลประเภท0) แก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวจำนวน236 คนและกิจกรรมมอบบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนรวมทั้งกิจกรรมเวทีประชาคมต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหากลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน กรณีบุคคลเชื้อสายลาวที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ในอดีต โดยปัจจุบันมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน จำนวน 27ราย
ดังนั้น เพื่อให้การติดตามประเมินผลการดำเนินงานเรื่องปัญหาสถานะทางทะเบียนตามโครงการพื้นที่นำร่องในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการนำข้อมูลการศึกษามากำหนดเป็นตัวแบบ(Model) การดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย และส่งเสริมความร่วมมือการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคร่วมกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการ “ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ศึกษาเฉพาะกรณีการดำเนินการตามโครงการพื้นที่นำร่อง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี” ขึ้น