โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 , 14:05:41 (อ่าน 1,160 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม พร้อมคณะผู้บริหารและทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้การต้อนรับ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ ในโอกาสตรวจเยี่ยมโครงการการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศเชอรี่อินทรีย์ ในโรงเรือนที่มีคุณภาพสูง สำหรับตลาดพรีเมี่ยมในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “ศูนย์วิจัยชุมชนเกษตรอินทรีย์เมืองศรีไค” ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทินน์ พรหมโชติ หัวหน้าโครงการ รายงานผลการดำเนินงาน ณ ศูนย์วิจัยชุมชนเกษตรอินทรีย์เมืองศรีไค ต.ศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศเชอรีอินทรีย์ ในโรงเรือนที่มีคุณภาพสูง สำหรับตลาดพรีเมี่ยมในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินโครงการ ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ส่งเสริมการปลูกและพัฒนาพันธุ์ให้เกษตรกรสามารถปลูกและดำเนินการเองทุกขั้นตอนได้ นับได้ว่ามะเขือเทศอินทรีย์เป็นผลไม้เศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ชื่นชมการทำงานของทีมวิจัย และยังให้โจทย์ในการขยายเครือข่ายการปลูกเพิ่มเป็น 2 เท่า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกรในวงกว้าง สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับเศรษฐกิจของอีสานใต้ คุณภาพชีวิตและสร้างมูลค่าให้แก่ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านกรอบความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของ ศูนย์วิจัยชุมชนเกษตรอินทรีย์เมืองศรีไคภายใต้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมุ่งพัฒนาสร้างรากฐานที่แข็งแรง โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการพัฒนาตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด ให้สามารถสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แก้ไขปัญหาของพื้นที่ตนเองได้ เป็นการทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงงานวิจัย นำไปใช้และเกิดประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว
เทอดภูมิ ทองอินทร์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ภาพ