มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




คณาจารย์ทีมวิจัย ม.อุบลฯ ลงพื้นที่อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนา 3 พิพิธภัณฑ์ โครงการกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อ.เขมราฐ จ.อุบลฯ


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 29 ตุลาคม 2564 , 12:11:15     (อ่าน 1,404 ครั้ง)  



คณาจารย์ทีมวิจัย ม.อุบลฯ ลงพื้นที่อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนา 3 พิพิธภัณฑ์

โครงการ “กิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” อ.เขมราฐ จ.อุบลฯ

----------------------------------------------

          เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำทีมวิจัย คณาจารย์ และวิทยากรลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “กิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ในเขตพื้นที่พิพิธภัณฑ์บ้านดงเย็น ตำบลขามป้อม พิพิธภัณฑ์บ้านขุนภูรีประศาสน์ ตำบลเขมราฐ และพิพิธภัณฑ์ตำบลเจียด (วัดถ้ำพระศิลาทอง) ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2564 - วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2564  ภายใต้ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” เพื่อเป็นการการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่วัฒนธรรมที่สำคัญของอำเภอเขมราฐจากโครงการวิจัย “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ อำเภอเขมราฐ  จังหวัดอุบลราชธานี” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เชื่อมโยงกับโครงการวิจัย “โครงการการจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี”ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในปัจจุบัน

 

           นางสาววิชุลดา  พิไลพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการวิจัยพื้นที่พิพิธภัณฑ์บ้านดงเย็น และพิพิธภัณฑ์ตำบลเจียด (วัดถ้ำพระศิลาทอง) อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “กิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ครั้งนี้ ได้กำหนดลง 3 เขตพื้นที่ ได้แก่ เขตพื้นที่พิพิธภัณฑ์บ้านดงเย็น พิพิธภัณฑ์ตำบลเจียด (วัดถ้ำพระศิลาทอง) และพิพิธภัณฑ์บ้านขุนภูรีประศาสน์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมี ดร.คำล่า  มุสิกา อาจารย์ประจำสาขาวิชามนุษยศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว และขอขอบคุณในความร่วมมือของภาคีเครือข่ายวิจัย คณะนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประสานงาน และคณาจารย์ผู้รับผิดชอบกิจกรรม ประกอบด้วย นายกรกิฏ  เหล่าสกุล (คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์) นายธวัชชัย  สลางสิงห์ (คณะวิทยาศาสตร์) และนายวศิน  โกมุท (คณะศิลปศาสตร์) โดยการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากภาคีเครือข่ายโครงการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อำเภอเขมราฐ  จังหวัดอุบลราชธานี” จากสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ที่ส่งทีมวิทยากรมาให้ความรู้และร่วมเป็นวิทยากรประจำกลุ่ม ได้แก่ นางสาวเชาวนี  เหล็กกล้า (ภัณฑารักษ์ชำนาญการ) นายพงษ์พิศิษฏ์  กรมขันธ์ (นักโบราณคดีปฏิบัติการ)  นางสาวสิริภา  เจริญเขต (ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ) นายประภูศักดิ์  สำเภานนท์ (นายช่างศิลปกรรม) และ นายวรวุฒิ  บุญรมย์ (พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์)

           ดร.คำล่า  มุสิกา อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรศึกษาศาสตร์ แขนงวิชาดนตรีศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์บ้านขุนภูรีประศาสน์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “กิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ภายใต้ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” จะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการให้บริการวิชาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อ แนวคิดและวิธีการการจัดทำป้ายสื่อความหมายของพิพิธภัณฑ์ ความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ และการดูแลรักษาการอนุรักษ์โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ ประการที่สอง เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทุกภาคส่วนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น/ชุมชน  และประการสุดท้ายเพื่อเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอื่น ๆ ของอำเภอเขมราฐและนำไปสู่การสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชน ด้วยความตั้งใจที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เป็นหลักของท้องถิ่น และเป็นปัญญาแห่งแผ่นดิน” โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตร่วมกับชุมชน (Sharing the Future with the Community) ในอนาคตต่อไป

-----------------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ หัวหน้าโครงการกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :