โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 30 สิงหาคม 2564 , 17:08:11 (อ่าน 1,357 ครั้ง)
ม.อุบลฯ จัดกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลพัฒนาทักษะและสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค ภายใต้โครงการเครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี
-----------------------------------------------------------
เมื่อวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดำเนินโครงการ “เครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี” ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 รวมระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน และในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลพัฒนาทักษะและสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค ภายใต้โครงการเครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ณ ตลาดก้านเหลือง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย เป็นประธานพิธีเปิดและนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาให้ข้อแนะนำ และ ดร.จริยาภรณ์ อุ่นวงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้บริหารชุดโครงการ กล่าวต้อนรับ และชี้แจงวัตถุประสงค์ ตลอดจนเป้าหมายของโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือของนักวิจัย จำนวน 40 คน จาก 5คณะ ประกอบด้วยคณะบริหารศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มีโครงการวิจัยย่อยภายใต้การดำเนินงานโครงการ จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนาระบบและการประยุกต์ใช้หลักการข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลอาหารปลอดภัย, โครงการการพัฒนาโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์สำหรับตลาดปลอดภัย, โครงการการยกระดับคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย : ศึกษากรณีบ้านบัวเทิง จ.อุบลราชธานี, โครงการการพัฒนาระบบตลาดดิจิทัลและเกษตรอัจฉริยะสำหรับเกษตรอินทรีย์, โครงการระบบการจัดส่งผักปลอดภัย ‘ผักดีดี’ จังหวัดอุบลราชธานี, โครงการการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งอย่างยั่งยืนสำหรับห่วงโซ่อาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี, โครงการการยกระดับสถานประกอบการเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย และโครงการการสร้างธุรกิจสีเขียวผ่านการแปลงขยะในระบบอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและกระจายรายได้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรในพื้นที่ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านบัวเทิง เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการในตลาดดอนกลาง ผู้บริหารตลาดดอนกลาง ผู้ประกอบการใหม่ มูลนิธิสื่อสร้างสุข หน่วยงานราชการ สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานเกษตร สำนักงานปศุสัตว์ สำนักงานประมง ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 สำนักงานอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ครอบคลุมทั้งระบบ “นิเวศอาหารปลอดภัยจังหวัดอุบลราชธานี”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมวันนี้ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและเผยแพร่ผลงานวิจัยให้รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างเครือข่ายและขยายผลการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ภายในงานยังจัดให้มีการแชร์ประสบการณ์ของ นางสาวจารุวรรณ มณีศักดิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการกินสบายใจ และกินสบายใจช็อป นายธวัชชัย นนทะสิงห์ ผู้จัดการช็อป และ นายศักดิ์ดา อุระ เจ้าของร้านอาหารบ้าเส้น ร่วมแชร์ประสบการณ์ ซึ่งจากผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานีผ่านมา สามารถสรุปข้อมูลได้ดังนี้
1) การพัฒนาระบบและกลไกการจัดการตลาดการยกระดับและสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานีผ่านการวิจัยในประเด็น “เครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัย” เป็นการปฏิบัติการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมในเชิงพื้นที่ที่เชื่อมโยงการสร้างคุณค่าร่วมสำหรับอาหารปลอดภัยตั้งแต่แหล่งผลิตและแหล่งแปรรูปในระดับต้นน้ำ ผู้ค้าในตลาดสดในระดับกลางน้ำ และผู้บริโภคในระดับปลายน้ำ คำถามของการวิจัย คือ การบริหารจัดการตลาดสดอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานีควรเป็นอย่างไร นักวิจัยได้ศึกษาและพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ ระบบการขนส่งอย่างยั่งยืน ตลอดพัฒนาโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์สำหรับตลาดปลอดภัย จนเกิด PlatformDigitalที่ใช้สนับสนุนระบบตลาด หรือ ที่คุ้นชินในชื่อ ระบบการจัดส่ง “ผักดีดี” เป็นวิธีในการสร้างและขับเคลื่อนการทำงานในตลาด นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้จัดทำเครื่องมือสำหรับคณะกรรมการอาหารจังหวัดอุบลราชธานี (Dashboard) เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เป็นปัจจุบันได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความครบถ้วนของข้อมูล เพื่อใช้ในการตัดสินใจอีกด้วย นอกจากนี้นักวิจัยยังได้การศึกษาข้อมูลและร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบการ 2 แห่ง คือ 1) โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ 2) ร้านอาหารบ้านเส้น จัดทำแผนกลยุทธ์ด้านตลาดขึ้นมา 7 ข้อ ได้แก่ 1. กลยุทธ์ด้านบุคลากร 2) กลยุทธ์ด้านผลิติภัณฑ์ 3) กลยุทธ์ด้านราคา 4) กลยุทธ์ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย 5) กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาด 6) กลยุทธ์ด้านกระบวนการ ร้านอาหารปรุงอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหาร และ 7) กลยุทธ์ด้านลักษณธกายภาพ ปัจจุบันสถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง ได้มีการพัฒนาและยกระดับจนผ่านการประเมินและได้รับการรับรองมาตรฐาน Clean Food Good Test.
2) การพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรในพื้นที่จากการศึกษา พัฒนาผู้ประกอบการผ่านกระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมที่เรียกว่า “3C” ซึ่งประกอบด้วย 1) กระบวนการการร่วมสร้าง (Co-creation) 2) กระบวนการร่วมทำ (Commitment) ) และ 3) กระบวนการการร่วมบรรลุ (Completion) จนนำมาสู่การลงมือปฏิบัติการในพื้นที่ ก่อให้เกิดการสร้างและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรในพื้นที่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเป็นอีกช่องทางในการดึงดูดผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปได้แก่ 1) กัมมี่กระท้อน 2) น้ำพุทราสกัดเข้มข้น และ 3) พุทราลอยแก้ว
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและลดปริมาณขยะในพื้นที่ตลาดสด นักวิจัยจึงร่วมกับผู้บริหารตลาดดอนกลาง ทำการเลี้ยงไส้เดือนโดยใช้เศษผักผลไม้และเศษอาหารที่เกิดขึ้นในตลาดเป็นอาหารของไส้เดือน ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบคุณภาพของปุ๋ยหมักและน้ำหมักมูลไส้เดือนก่อนจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ในระยะเวลา 12 เดือน นักวิจัยพบว่า การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมและครอบคลุมทั้งระบบ “นิเวศอาหารปลอดภัยจังหวัดอุบลราชธานี” ในระยะเวลาอันสั้นนั้น ไม่อาจจะกระทำได้ทันที จำเป็นต้องมีเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน คือ ข้อมูล และกลไกในพื้นที่ และข้อค้นพบคือ คณะกรรมการอาหารจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการและได้เห็นการใช้งานระบบแสดงข้อมูลตอบสนองแบบแผนภาพ (Dashboard) ในการประชุม ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นและสรุปงานได้รวดเร็ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงเห็นควรให้มีการผลักดันให้เป็นโมเดลสำหรับหน่วยงานอื่น ๆ ในจังหวัดต่อไป ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการเครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี เกิดผลผลิตที่สำคัญดังนี้ กลุ่มวิสาหกิจ/ผู้ประกอบการเป้าหมายได้รับการสร้างและพัฒนาประกอบด้วย วิสาหกิจ จำนวน 4 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจ จำนวน 3 ราย แผงอาหาร แผงค้าในตลาดสด รวม 3 ราย และเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าปลอดภัย รวม 30 ราย Platform ข้อมูลสนับสนุนระบบตลาด Digitalจำนวน 2ระบบ ที่พัฒนาและนำไปใช้งาน Platform ข้อมูลสนับสนุนรองรับการวางแผนเชิงนโยบายและแก้ปัญหาแบบทันเวลา 1 ระบบ คณะทำงานที่บูรณาการผู้มีส่วนได้เสียครอบคลุมตลอดระบบนิเวศ และกลไกการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ต่อไป
--------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว