มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




รัฐศาสตร์ ม.อุบลฯจับมือเครือข่ายด้านอาณาบริเวณศึกษา นำเสนอรายงาน ความเชื่อมโยงของลุ่มแม่น้ำโขงและคงคาในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตน์


โพสต์โดย : นายฐิติกรณ์รัศมี์ ศรีโชค     วันที่ 24 สิงหาคม 2564 , 09:35:22     (อ่าน 1,004 ครั้ง)  



         คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียแห่งประเทศไทย และ กลุ่มศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดการประชุมรายงานความคืบหน้าในโครงการวิจัยการสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านอาณาบริเวณศึกษาในกลุ่มมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและอาเซียน + 4 ในหัวข้อ “ความเชื่อมโยงของลุ่มแม่น้ำโขงและคงคาในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตน์” ในวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 ณ ห้อง Pol 301 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และแบบออนไลน์

          โอกาสนี้ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวแนะนำกิจกรรม โดยการนำเสนองานในครั้งนี้มีความสำคัญในผลักดันการสร้างองค์ความรู้เรื่องอาณาบริเวณศึกษาในรูปแบบของความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะเป็นอย่างยิ่ง โดยภายในงานวันนี้เป็นการนำเสนอความก้าวหน้างานศึกษาค้นคว้าภายใต้แนวคิด “ความเชื่อมโยงของกลุ่มแม่น้ำโขงและคงคาในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตน์” เพื่อสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการนำเสนอ 7 บทความ ใน 3 เวที อันประกอบไปด้วย เวทีที่ 1 วัฒนธรรมในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตน์  เวทีที่ 2 การต่างประเทศในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตน์  เวทีที่ 3 นโยบายสาธารณะในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตน์ และปัจฉิมกถาในหัวข้อ “พรมแดนในอาณาบริเวณศึกษา”

          ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการ กล่าวว่า สาธารณรัฐอินเดียเป็นประเทศที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะสามารถสร้างความร่วมมือทางการศึกษาแบบพหุภาคีทั้งในระดับภูมิภาค ผ่านกรอบอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Summit) ในระดับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-คงคา (Mekong Ganga Cooperation)และแบบทวิภาคี ผ่านกรอบความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย (Indo-Thai Relations)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-คงคา (Mekong Ganga Cooperation)ซี่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินเดีย  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและเชื่อมโยงความร่วมมือในกิจกรรมหลัก 4 สาขา ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม และด้านการคมนาคมขนส่งซึ่งจะสอดคล้องกับการสร้างบทบาทให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในฐานะประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน บนฐานภูมิปัญญาอีสานใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายใต้บริบทของโลกาภิวัฒน์

          โดย ดร.ศิริพร จันทนสกุลวงศ์ หัวหน้าโครงการกล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มอินเดียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสนใจในประเด็นความเชื่อมโยงของลุ่มแม่น้ำโขงและคงคาในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตม์ โดยใช้กรอบโลกาเทศาภิวัฒน์ (Glocalisation) ที่เป็นการรวมกันระหว่างความเป็นสากล (Global) และท้องถิ่น (local) เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นไปสู่โลกและโลกสู่ท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อรวบรวมข้อมูลและศึกษาวิเคราะห์ถึงภูมิหลังของความเชื่อมโยงของกลุ่มแม่น้ำโขงและคงคาในยุคหลังอาณานิคมและโลกาเทศาภิวัตม์ และ(2) เพื่อสังเคราะห์ประเด็นทางด้านนโยบายด้านการพัฒนาเมือง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ พลังงานทดแทน การสาธารณสุข และการศึกษาประเด็นด้านวัฒนธรรมและศาสนา โดยมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นการสร้างเครือข่าย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยให้เกิดมุมมองและความเข้าใจต่อประสบการณ์และทางเลือกในการพัฒนาความร่วมมือของลุ่มแม่น้ำโขงและคงคาต่อไป

            กิจกรรมดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วม ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย และผู้สนใจลงทะเบียน ผ่านระบบออนไลน์กว่า 100 คนจากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :