โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 , 16:24:20 (อ่าน 1,172 ครั้ง)
จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เชิญชมนิทรรศการมรดกล้ำค่าเมืองดอกบัว สืบสานงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 ผ่านการถ่ายทอดสด โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ได้นำเสนอการสาธิตการแทงหยวก ทำปราสาทผึ้ง โดย กลุ่มช่างแทงหยวกบ้านโพนทราย ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี โอกาสนี้ นางสาวมัณฑนา เจือบุญ ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานอธิการบดี นายเพลิน วิชัยวงศ์ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกิจกรรมแทงหยวกทำปราสาทผึ้ง และผลิตรายการถ่ายทอดสด
การแทงหยวก เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่เกิดจากภูมิปัญญาการใช้วัสดุทรัพยากรธรรมชาติคือต้นกล้วย มาสร้างสรรค์เป็นผลงานทางศิลปะ เพื่อใช้ในงานพิธีมงคลและงานพิธีอวมงคล หรือกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน การแทงหยวกถือเป็นงานสร้างสรรค์ ที่ต้องอาศัยความคิดประดิษฐ์และทักษะทางกล้ามเนื้อมืออย่างชำนาญในการใช้มีดแทงหยวกเป็นลวดลายต่างๆ ก่อนนำไปประกอบกับโครงสร้างของงานตามที่ต้องการ ศิลปะการแทงหยวกนี้ มีทั้งในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นต้น การแทงหยวกนั้นมักใช้ในการสร้างความงามให้เกิดกับวัสดุที่เป็นหยวกไปประกอบ เช่น เชิงตะกอน ปราสาทผึ้ง กระทง บุษบก เป็นต้น
การแทงหยวกเพื่อประกอบการทำปราสาทผึ้ง มีแพร่หลายมาในกลุ่มวัฒนธรรมไทยอีสานและชาวล้านช้างมาแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมายาวนาน โดยวัตถุประสงค์ในการแทงหยวกเพื่อทำปราสาทผึ้งดังกล่าว ส่วนใหญ่มีจุดประสงค์คล้ายคลึงกันคือเป็นพุทธบูชาและใช้ประกอบพิธีในโอกาสต่างๆ รูปลักษณ์ของปราสาทผึ้งและลวดลายของการแทงหยวกในแต่ละท้องถิ่นต่างมีเอกลักษณ์และแนวทางของตนเอง
นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมสืบสานประเพณีอันดีงาม แม้รูปแบบปีนี้จะปรับเปลี่ยนไป แต่ทุกคนก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในงานประเพณี ที่สืบทอดมาช้านาน สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน และปรัชญาที่ว่า “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างสติและปัญญาแก่สังคมบนพื้นฐานความพอเพียง” ซึ่งในปี 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก้าวสู่ปีที่ 31 แห่งการก่อตั้ง ในการเป็น“มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน”